Warning: Creating default object from empty value in /home/abactutor/domains/xn--12c7bhbc4cd2ilbc9ysb.com/public_html/wp-content/plugins/transida-plugin/redux-framework/ReduxCore/inc/class.redux_filesystem.php on line 29
IS หรือ Independent Study คืออะไร - รับทำการบ้าน.com
09
Aug

IS หรือ Independent Study คืออะไร

is-คืออะไร

IS หรือ Independent Study คืออะไร

IS ย่อมาจาก Independent Study ซึ่งสามารถแปลอย่างตรงตัวได้ว่า “การศึกษาอิสระ” หรือ “การค้นคว้าอิสระ” โดยเป็นรูปแบบการศึกษาหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการนำมาศึกษาในหลากหลายแขนงวิชา เนื่องจากมีจุดเด่นในเรื่องมาตรฐานและระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนในการจัดทำ มีกระบวนการที่เข้าใจง่าย และการจัดเรียงของเนื้อหาสอดคล้องกับกระบวนการศึกษาโดยตรง ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการจัดเรื่องของเนื้อหา IS นั้น เราสามารถแสดงการจัดเรียงเนื้อหาของ IS ในรูปแบบที่ได้รับความนิยม ออกได้เป็น 5 ส่วน ดังต่อไปนี้

1. เนื้อหาส่วนบทนำ

โดยทั่วไปแล้ว เนื้อหาส่วนที่ 1 จะมีจุดประสงค์เพื่อแสดงเป้าหมายของการศึกษาค้นคว้าในครั้งนั้นและความเป็นไปได้ของการศึกษาเป็นสำคัญ ซึ่งโดยส่วนมากจะประกอบด้วย ที่มาและความสำคัญ ปัญหาของการศึกษา วัตถุประสงค์ของการศึกษา สมมุติฐานของการศึกษา ขอบเขตของการศึกษา นิยามศัพท์เฉพาะ และกรอบแนวคิดของการศึกษา

ดังนั้นการจัดทำบทนำให้ออกมาตอบโจทย์นั้น ต้องเข้าใจความต้องการในการศึกษาของตนเองเสียก่อนว่าต้องการศึกษาในประเด็นใด หลังจากนั้นจึงนำความต้องการในการศึกษานั้นมาตั้งเป็น “คำถาม” ในส่วนของปัญหาการวิจัยโดยการใช้ “อะไร ทำไม ที่ไหน เมื่อไร ใคร หรือ อย่างไร” ให้ชัดเจน แล้วจึงนำคำถามที่ตั้งไว้แล้วเสร็จนั้น มาเปลี่ยนรูปแบบจากประโยคคำถามให้เป็นประโยคบอกเล่า โดยใช้คำว่า “เพื่อศึกษา …….” ในการกำหนดประโยคดังกล่าว โดยส่วนนี้เรียกว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษาและตั้งสมมุติฐานของการศึกษาเพื่อ “คาดคะเน” คำตอบของปัญหาที่ได้ตั้งไว้

นอกจากนั้น ในการศึกษาที่เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มากกว่า 2 ปัจจัยขึ้นไป ผู้ศึกษายังต้องกำหนด “ตัวแปร” ในการศึกษาครั้งนั้นขึ้นมาเพื่อสร้างกรอบการวิจัย และให้ขอบเขตของการวิจัยชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดตัวแปรต้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อปัจจัยอื่นและกำหนดตัวแปรตามเป็นปัจจัยที่ได้รับผลจากตัวแปรต้นตามวัตถุประสงค์และปัญหาของการศึกษาอย่างครอบคลุมและตรงไปตรงมา

2. เนื้อหาส่วนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ในส่วนที่สองนี้ เป็นการนำเสนอทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษา โดยอ้างอิงจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทั้งหมด ซึ่งควรจะเป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องโดยตรงเพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถนำแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวมาสร้างกรอบการศึกษาได้อย่างเที่ยงตรงและประสิทธิภาพได้  นอกจากนั้นในส่วนที่สองนี้ ยังนิยมให้มีการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงจากงานศึกษาในอดีต และทำการตรวจสอบผลของงานศึกษาที่ใกล้เคียงกัน หรือประเด็นที่อาจจะซ้ำซ้อนกัน เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการศึกษาของตนเอง และมองหาข้อจำกัดของการศึกษาในอดีตด้วย ทั้งนี้การนำการศึกษาในอดีตมาอ้างอิงหรือมาศึกษานั้น นิยมให้งานศึกษาดังกล่าวมีอายุของข้อมูลการศึกษาไม่มากกว่า 5 ปี เนื่องจากยังเป็นการศึกษาที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน

is-หรือ-independent-study-คืออะไร

3. เนื้อหาส่วนระเบียบวิธีวิจัย

ด้านระเบียบวิธีวิจัยจะกล่าวถึงรูปแบบกระบวนการในการศึกษา การประมวลผล และการวิเคราะห์ข้อมูล โดยนิยมจัดรูปแบบการนำเสนอของส่วนที่สามนี้ออกเป็นสี่ส่วน ได้แก่ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างนั้นประกอบด้วยสองข้อย่อยได้แก่ ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งทั่วไปแล้ว ประชากร หมายถึงกลุ่มคนที่ต้องการศึกษาตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้โดยจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตในพื้นที่หนึ่ง เวลาหนึ่ง และจำนวนหนึ่งที่แน่นอน เพื่อความเฉพาะเจาะจงในการศึกษา หลังจากกำหนดประชากรแล้วจึงนำประชากรดังกล่าวมาหากลุ่มตัวอย่าง หมายถึงตัวแทนประชากรที่ต้องการศึกษา โดยใช้สูตรการคำนวณ เช่น Yamane, Krejcie & Morganหรือ Cochranในกรณีไม่สามารถกำหนดจำนวนประชากรได้

หลังจากได้จำนวนของกลุ่มตัวอย่างแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการจัดหาเครื่องมือเพื่อจัดเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดไว้ข้างต้น เครื่องมือนั้นต้องออกแบบให้สอดคล้องกับชุดข้อมูลที่ต้องการโดยอ้างอิงจากวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้แล้วก่อนหน้า ปรกติแล้วเครื่องมือจะถูกแบ่งออกเป็นสามประเภทหลัก ได้แก่ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และการสังเกต ผู้ศึกษาสามารถใช้มากกว่าหนึ่งเครื่องมือในการศึกษาได้ ตามความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา และเมื่อกำหนดเครื่องมือเสร็จสิ้น ก็จำเป็นต้องหาความเที่ยงตรงของเครื่องมือผ่านผู้เชี่ยวชาญ หรือการใช้เครื่องมือกับกลุ่มทดสอบด้วย เมื่อเครื่องมือมีประสิทธิภาพมากพอในการใช้ศึกษาแล้ว ผู้ศึกษาสามารถนำเครื่องมือดังกล่าวเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้ ผ่านการกำหนดกระบวนการ สถานที่ เวลา และขั้นตอนในการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน โดยเรียกขั้นตอนข้างต้นโดยรวมว่าการเก็บรวบรวมข้อมูล

ข้อสุดท้ายของส่วนที่สามคือการวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึงการกำหนดรูปแบบการวิเคราะห์ และแจกแจงข้อมูลที่ต้องการใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บได้จากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแจกแจงเพื่อแสดงชุดข้อมูล เช่นแปลงอยู่ในรูปของค่าเฉลี่ย หรือค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนั้น ยังสามารถสังเกตุหรือค้นหารูปแบบการวิเคราะห์ที่เหมาะสมได้จากโครงการของวัตถุประสงค์การศึกษาที่อยู่ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม เช่นการศึกษาความสัมพันธ์ของตัวแปร หรือการศึกษาการส่งผลของตัวแปร เป็นต้น

4. เนื้อหาส่วนของผลการศึกษา

ส่วนของผลการศึกษานี้ คือการนำชุดข้อมูลที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมาประมวลผลด้วยการวิเคราะห์และแจกแจงข้อมูลที่กำหนดไว้ ผ่านข้อมูลเชิงสถิติในการศึกษาแบบปริมาณ หรือการวิเคราะห์ในกรณีเป็นการศึกษาแบบคุณภาพ เพื่อแสดงให้เห็นถึงคำตอบที่สามารถเป็นไปได้ของชุดข้อมูลจากกลุ่มประชากร

5. เนื้อหาส่วนสรุปและอภิปรายผล

หลังจากได้ผลการศึกษาจากส่วนที่สี่แล้ว ในส่วนที่ห้าจะนำผลการศึกษามาสรุปและแจกแจงตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่ได้ตั้งไว้ พร้อมกับนำผลการศึกษาดังกล่าวนั้นมาตอบปัญหาของการศึกษาโดยในส่วนของการสรุปนั้นจะนำผลการศึกษาจริงมาเปรียบเทียบกับ “สมมุติฐานของการศึกษา” ที่ได้ตั้งไว้เพื่อวิเคราะห์ว่าผลการศึกษาจริงนั้นตรงกับสมมุติฐานที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ หลังจากนั้นในส่วนของการอภิปรายผลจึงนำผลการศึกษาดังกล่าวมาอภิปรายต่อไปถึงสาเหตุที่เกิดผลดังกล่าว ซึ่งการอภิปรายนั้นอาจจะอ้างอิงจากแนวคิด ทฤษฎี เหตุการณ์จริง หรืองานศึกษาในอดีตก็ได้